ไม่พบผลการค้นหา
'ฟินแลนด์' มีกฎหมายห้องสมุดโดยเฉพาะ เพื่อส่งเสริมความรู้และลดรายจ่ายของประชาชน ขณะไทยไม่มีแผนชัดเจน แม้แต่การตีความ "ความรู้"

ขณะตัวเลขผู้ใช้บริการห้องสมุดทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง 'ฟินแลนด์' หนึ่งในประเทศที่ได้รับการยกย่องเรื่องรูปแบบการศึกษาที่มีคุณภาพมากที่สุดในโลกที่หนึ่ง กลับมีตัวเลขยืมคืนหนังสือสูงถึง 68 ล้านเล่ม/ปี จากจำนวนประชากรเพียง 5.5 ล้านคน

'กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ' ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาฟินแลนด์ ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าววอยซ์ออนไลน์ว่า นิยามความหมายของห้องสมุดในฟินแลนด์ไปไกลกว่าการเป็นแค่สถานที่ยืม-คืนหนังสือมากแล้ว บริการต่างๆ อาทิ สตูดิโออัดเสียง เครื่องสแกน 3 มิติ จักรเย็บผ้า หรือแม้แต่พื้นที่สำหรับงานเชื่อมโลหะด้วยเครื่องบัดกรี ถูกผนวกรวมเข้ามาไว้ในห้องสมุดด้วย โดยสิ่งสำคัญที่สุด คือรัฐบาลสร้างห้องสมุดขึ้นมาบนพื้นฐานความต้องการของประชาชนผู้ใช้งานจริง ซึ่งสะท้อนออกมาในบริการที่หลากหลาย เวลาเปิด-ปิด ไปจนถึงสถานที่ตั้งของห้องสมุดที่เข้าไปอยู่ในแหล่งชุมชน

ขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์การให้ความสำคัญเรื่องการเข้าถึงความรู้ในฟินแลนด์ก็มีมาหลายทศวรรษแล้ว กุลธิดา ชี้ว่า ฟินแลนด์มีกฎหมายเฉพาะอย่าง พ.ร.บ.ห้องสมุดสาธารณะ ที่ถูกเขียนขึ้นมาเป็นแผนปฏิบัติงานของรัฐบาลตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 20 และได้มีการปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อปี 2560 โดยกฎหมายดังกล่าวระบุไว้อย่างชัดเจนว่าประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงบริการห้องสมุดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น 

กุลธิดา ชี้ว่า เมื่อเฉลี่ยค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลลงทุนในห้องสมุดทั่วประเทศจะตกอยู่ที่ประมาณ 2,064 บาท/ประชากร 1 คน 



งบห้องสมุดไทย..อยู่ไหนหมด

เมื่อย้อนกลับมาดูระบบห้องสมุดในประเทศไทย อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ชี้ว่า ห้องสมุดของไทยมีหลายประเภทมาก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นห้องสมุดท้องถิ่นและมีงบประมาณขึ้นอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างไรก็ตามกลับไม่ได้มีการจัดเตรียมงบประมาณรวมไปถึงการให้ความรู้ในการบริหารห้องสมุดที่มีคุณภาพและมาตรฐานเพียงพอ

"ไม่มีงบ ไม่มีทักษะความรู้ ก็จบแล้ว สองอันนี้หาย คุณก็เดินทางไปไหนไม่ได้แล้ว" กุธิดา กล่าว

นอกจากนี้ กุลธิดา ยังชี้ว่า ปัญหาอีกประการของไทยมาในเชิงโครงสร้างด้านนโยบายที่รัฐยังคงมองว่าความรู้เป็นสิ่งที่อยู่ในหนังสือเป็นหลัก ทั้งที่ความจริงแล้ว ภาคนโยบายควรมีการส่งเสริมให้พัฒนาจากความรู้ไปเป็นทักษะให้มากขึ้น

กุลธิดา ชี้ว่า "เรายังหยุดอยู่ที่ความรู้เป็นเนื้อหาอยู่ในสมุดหรือหนังสือ หรืออย่างมากก็คืออีบุ๊กเรายังไปไม่เกินเนื้อหาไปสู่ทักษะ ไปสู่บริการภาครัฐอื่นๆ เลย ดังนั้นในส่วนนี้ต้องคุยกันก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคนโยบาย ว่าคุณมองความรู้ว่าอย่างไร พื้นที่สาธารณะที่คุณจะมอบบริการให้กับประชาชนควรจะมีหน้าตาแบบไหนอย่างไร คุณจะมอบอะไรให้เขาบ้าง แล้วค่อยไปดูว่าเราขาดอะไรบ้าง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เราเอาชีวิตของประชาชนเป็นศูนย์กลาง"


ห้องสมุดทำให้ชีวิตดีขึ้นยังไง ?

กุลธิดา ชี้ว่า ตัวห้องสมุดอย่างเดียวไม่อาจลุกขึ้นมาเป็นปัจจัยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือคุณภาพเศรษฐกิจประเทศได้ แต่ห้องสมุดเป็นบริการของภาครัฐ ฝั่งประเทศฟินแลนด์สร้างห้องสมุดให้เข้าใกล้ชีวิตผู้คนมากที่สุด มีบริการรองรับทุกอย่างเพื่อส่งเสริมทั้งการหาความรู้ในทุกแขนงและการลดค่าครองชีพ ดังนั้นห้องสมุดเป็นแค่หนึ่งในโครงสร้างของเศรษฐกิจทั้งระบบ 

รัฐบาลต้องเริ่มจากกลับไปคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีมาตรฐานวิชาชีพเพียงพอ จะเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายของประชาชนอย่างไร จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีเวลาเพิ่มมากขึ้น ให้เพียงพอต่อการหาความรู้เพิ่มพูนทักษะให้ตนเอง โดยสิ่งเหล่านี้ต้องกลับไปคิดตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึงการออกแบบผังเมือง

เมื่อโครงสร้างพื้นฐานในการใช้ชีวิตดีแล้ว ประชาชนมีเวลาว่างเพียงพอแล้ว มีรายได้มั่นคงแล้ว นั่นจะเป็นเวลาที่ห้องสมุดได้ทำหน้าที่ในการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของประชากร 

กุลธิดา กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีแบบแผนที่เป็นรูปธรรมว่าจะผลักดันเรื่องดังกล่าวไปในทิศทางใด แต่ประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างเวียดนามกลับเดินหน้าพัฒนาทักษะประชากรของเขาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการพัฒนาประเทศในระยะยาว และตนก็หวังว่าจะเห็นนโยบายที่เกี่ยวข้องออกมาสักที