ไม่พบผลการค้นหา
กรรมาธิการการต่างประเทศพรรคเพื่อไทยสัมมนาร่วมกับสมาชิกรัฐสภายุโรป หวังแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านกฏหมาย พัฒนาอาเซียนให้เกิดความเข้มแข็งในทุกมิติ

นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการการต่างประเทศ นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ นายกรวีร์ สาราคำ เลขานุการคณะฯ และนายภิญโญ กิจเลิศไพโรจน์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ สภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เข้าร่วมสัมมนาในหัวข้อ “อาเซียนและสหภาพรัฐสภายุโรป โอกาสและความท้าทายในโลกที่ไม่หยุดนิ่ง” โดยมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้รับเกียรติจาก มร. เอลม่าร์ โบรค (Mr. Elmar Brok) สมาชิกรัฐสภายุโรป กล่าวปาฐกถา เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดี และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างสมาชิกรัฐสภาทั้งสองฝ่าย ณ โรงแรมเชอราตันแกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ

นายเอลม่าร์ โบรค กล่าวถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันว่า มีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อทางเศรษฐกิจในด้านการส่งออกของหลายประเทศเป็นอย่างมาก และจากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้อาเซียนและสหภาพยุโรปจะต้องร่วมกันหาทางในการรับมือ ซึ่งสหภาพยุโรปมีการพัฒนาระบบกฎหมายที่ดี ซึ่งตลาดภายในประเทศมีการควบคุมด้วยกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่ง่ายที่จะเปลี่ยนนโยบายด้านการค้า รวมทั้งต้องคำนึงถึงระบบการเมืองและระบบการค้าแบบพหุพาคี เพื่อสร้างประโยชน์โดยรวม และต้องเคารพกฎหมายระหว่างประเทศด้วย

ขณะที่กรรมาธิการการต่างประเทศ ได้ถึงหลักการ 3 M คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจ การเคารพซึ่งกันและกัน และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ ยังยึดหลักการสำคัญในความเป็นกลางของอาเซียน ในการขับเคลื่อนอาเซียนสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ท้าทายของสามเสาหลักของอาเซียนทั้งทางด้านการเมือง ความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนจึงจำเป็นต้องร่วมมือการประสานงานระหว่างกันเพื่อพัฒนาไปพร้อมกันทุกสาขา

ในฐานะสมาชิกรัฐสภา มีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ตลอดจนร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศเพื่อคนรุ่นหลังต่อไป ทั้งนี้ อาเซียนมุ่งหวังที่จะเป็นประชาคมซึ่งมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ก้าวไกลไปพร้อมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมร่วมมือกันกับนานาชาติรวมถึงสหภาพยุโรป ในการพัฒนาองค์ความรู้ ศักยภาพและแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีโดยใช้กลไกของศูนย์อาเซียน เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ